วัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับการใช้ "ตะเกียบ" ของชาวจีน
สวัสดีท่านผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ แมงปูด...การเครื่องครัว ทุกท่านครับ
วันนี้ แมงปูด...การเครื่องครัว จะมานำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อในการใช้ตะเกียบของชาวจีนกันครับ แน่นอนว่าติ่มซำที่เรารับประทานนั้น อุปกรณ์ที่ใช้คีบติ่มซำก็คงหนีไม่พ้น "ตะเกียบ" ซึ่งต้องยอมรับก่อนเลยว่าชนชาติแรกของโลกที่มีการใช้งานตะเกียบก็คือ "ชาวจีน" โดยเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงหลังยุคราชวงศ์ฮั่น หรือราวๆ คริสต์ศตวรรษที่ 3 ซึ่งมีเรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับตะเกียบดังต่อไปนี้
ห้ามปักตะเกียบไว้ในชามข้าว
การปักตะเกียบลงบนชามข้าว ดูเผินๆ จะเหมือนการปักธูปลงบนกระถางธูป เสมือนเป็นการไหว้บรรพบุรุษหรือผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ยิ่งถ้าเราเป็นผู้ตักข้าวให้คนอื่นแล้วปักตะเกียบลงไปในชามข้าวแบบนี้ด้วยแล้ว เสมือนว่าเราสาปแช่งผู้ที่เราตักข้าวให้เลยทีเดียว
ห้ามอม ดูด หรือ เลียตะเกียบ
การดูด อม เลีย ตะเกียบ ชาวจีนถือว่าเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพ โดยเฉพาะถ้าดูดจนมีเสียงดังด้วยแล้ว ยิ่งเสียมารยาทเข้าไปใหญ่
ห้ามใช้ตะเกียบเคาะถ้วยชาม
การใช้ตะเกียบเคาะถ้วยชามนั้นไม่ใช่ว่าเป็นการเอาภาชนะมาทำเครื่องดนตรีนะครับ แต่ความเชื่อของชาวจีนจะมองว่าประหนึ่งทำตัวเป็นขอทานที่คอยเคาะถ้วยเคาะชามเพื่อเรียกร้องความเมตตาสงสาร หรือเรียกร้องความสนใจจากผู้ใจบุญ
ห้ามใช้ตะเกียบข้างเดียวจิ้มลงบนอาหาร
บางทีตอนเด็กๆ ที่เรายังใช้ตะเกียบไม่ค่อยคล่อง เวลาจะ จับ-หนีบ-คีบ อาหารแต่ละทีก็ลำบาก ดังนั้นตอนเด็กๆ แอดแมวก็เคยเอาตะเกียบข้างเดียวนี่แหล่ะ ทิ่มเข้าไปในอาหารเลย โดยเฉพาะพวกลูกชิ้นที่มันคีบยาก แต่สำหรับความเชื่อของชาวจีนแล้วนั้น การทำแบบนี้จะถือว่าเป็นการเหยียดหยามน้ำใจกัน คล้ายๆ กับการแจกกล้วย (ชูนิ้วกลาง) ของวัฒนธรรมตะวันตก
ห้ามใช้ตะเกียบคุ้ยเขี่ยหาอาหาร
บางทีหมูชิ้นที่เราอยากรับประทานมันอยู่ใต้ใบผัก แต่ทว่า ในจานกับข้าวมีแต่ใบผัก แล้วหมูชิ้นมันไปซ่อนอยู่ที่ไหนหว่า? แต่สำหรับความเชื่อของชาวจีนจะมองว่าการใช้ตะเกียบคุ้ยเขี่ยอาหารในจานนั้นเปรียบได้กับพวกโจรสลัดซึ่งขุดสุสานเพื่อหาสมบัติ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ
ห้ามใช้ตะเกียบชี้หน้าผู้อื่น
การใช้ตะเกียบชี้หน้าผู้อื่น ดูๆ ไปแล้วก็เหมือนเป็นการใช้นิ้วชี้หน้าคู่สนทนาบนโต๊ะอาหาร แต่แค่เปลี่ยนจากนิ้วเป็นตะเกียบ ซึ่งเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพ
ห้ามใช้ตะเกียบทำท่าวนไปวนมาบนโต๊ะอาหาร
บางทีบนโต๊ะอาหารมีอาหารเยอะแยะ ไม่รู้ว่าจะเลือกรับประทานอาหารอะไรดี ประหนึ่งว่ากำลังลังเล ก็เลยทำท่าวนตะเกียบอยู่เหนืออาหารเหล่านั้น ซึ่งกิริยาดังกล่าวนั้นเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพ หากต้องการจะคีบอาหารสิ่งใดให้นึกให้ดีก่อน แล้วจึงใช้ตะเกียบคีบสิ่งนั้น
ห้ามวางตะเกียบสะเปะสะปะ
การวางตะเกียบไม่เสมอกันถือเป็นเรื่องอัปมงคลอย่างยิ่ง คนจีนจะมีคำกล่าวที่ว่า "ชางฉางเหลียงต่วน" หมายถึง "สามยาวสองสั้น" วลีนี้ชาวจีนหมายถึง "ความตาย" หรือ "ความวิบัติฉิบหาย" ดังนั้น การวางตะเกียบที่ทำให้เหมือนมีแท่งไม้สั้นๆ ยาวๆ จึ่งเป็นเรื่องอัปมงคลอย่างยิ่ง
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ท่านผู้อ่านทุกท่านเข้าใจถึงวัฒนธรรมและความเชื่อในการใช้ "ตะเกียบ" ไม่มากก็น้อยนะครับ จากเท่าที่อ่านดูแล้วนั้น แอดแมวว่าหลายๆ ความเชื่อที่ยกตัวอย่างขึ้นมานั้น ก็เป็นมารยาทบนโต๊ะอาหารของชาวไทยเช่นกัน สำหรับวันนี้ แมงปูด...การเครื่องครัว ขอลาไปก่อน สวัสดีครับ
ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์